งานก่อสร้างต้องรอบด้าน ลดความซ้ำซ้อนงานก่อสร้าง ด้วยนวัตกรรม

แม้ว่ากิจการรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยยังมีลักษณะการใช้แรงงานเข้มข้น แต่กระนั้นการบริหารธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ต้องหมั่นพิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลแรงงาน  รวมทั้งการแสวงหา คิดค้น  สร้างสรรค์ เทคโนโลยี จนถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งทางด้านเทคนิคการก่อสร้าง และการบริหารจัดการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพื่อประสบความสำเร็จทั้งด้านงานช่างทำงานเสร็จตามเวลาตรงสเปคและด้านธุรกิจ มีผลกำไรที่พึงได้ประเด็นที่ขอกล่าวในที่นี้คือ เรื่องเกี่ยวกับเหล็กเส้นก่อสร้าง

ความชำนาญโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

สิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยนิยมใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก  วัสดุก่อสร้างที่เป็นวัสดุโครงสร้างหลัก ๆ คือ เหล็กเสริมคอนกรีต และคอนกรีต (ปูนซิเมนต์ หินและทรายที่ผสมกับปูนซิเมนต์) การเทคอนกรีตในส่วนโครงสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ต้องมีการขึ้นโครงเหล็ก  ผูกเหล็ก  ดัดเหล็ก  ประกอบไม้ใบ และมีการค้ำยัน  เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงเทคอนกรีตและบ่มคอนกรีตตามระยะเวลาที่กำหนด

ในอดีตการตัดเหล็กให้ได้ความยาวตามต้องการ การดัดเหล็ก ผูกเหล็ก ต่าง ๆ ทำที่หน้างาน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน แรงงานพื้นฐานขาดแคลน อีกทั้งจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลการทำงานให้สูงขึ้นนี่เป็นด้านแรงงาน  ทางด้านสถานที่ก่อสร้างบางแห่งคับแคบไม่มีบริเวณกว้างขวางเพียงพอในการกองเหล็ก การตัดและดัดเหล็ก รวมทั้งการดูแลเรื่องเศษเหล็กต่าง ๆ และที่สำคัญคือมีบริการตัดและดัด (Cut and Bend) ตาม Bar Cut  List จากโรงงานเหล็กต่าง ๆ จากนั้นจัดส่งถึงหน้างานตามเวลานัดหมาย ตามตารางการทำงานก่อสร้าง วงการอุตสาหกรรมเหล็กเรียกขานบริหารตัดและดัดนี้ว่านวัตกรรม  เน้นการบริการใหม่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้าง  ประหยัดเวลา  และลดต้นทุนรวมในการก่อสร้าง

นอกจากนี้โรงงานเหล็กยังได้ผลิตเหล็กปลอกสำเร็จรูปบรรจุถุงสำเร็จมีขนาดความกว้างยาวต่าง ๆ ตามต้องการ และมีการผลิตเหล็กปลอกด้วยเหล็กเต็ม 6 มิลลิเมตร  เพื่อสร้างความแข็งแรงเต็มตามสเปคให้กับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก บริการตัดและดัด  เหล็กปลอกสำเร็จรูปเปิดโอกาสให้กิจการรับเหมาก่อสร้างมีทางเลือกในการบริหารจัดการงานก่อสร้างของตนเองมากขึ้น  ใช้นวัตกรรมจากโรงงานเหล็กมาเป็นประโยชน์กับกิจการของตนเอง

ก้าวต่อไปที่น่าสนใจคือ งานก่อสร้างพื้นฐาน เช่น  อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้เป็นอาคารพาณิชย์สูง 4  ชั้นสามารถออกแบบให้มีมาตรฐานร่วมกัน มีขนาดความกว้างยาวของแต่ละห้องแบบเดียวกัน  ทางเลือกในการบริหารจัดการงานก่อสร้างย่อมมีมากขึ้น ไม่ว่าการใช้พื้นและผนังสำเร็จรูป  หรือการเลือกใช้บริการเหล็กตัดและดัดที่มีความคลาดเคลื่อนของการตัดและดัดน้อยลง  หรือไม่มีเลย

การเลือกใช้เหล็กที่เหนียวมากขึ้น
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นการผสมผสานระหว่างความแข็งแกร่งของคอนกรีต และความแข็งแรงเหนียวไม่หักเปราะง่ายของเหล็ก  เพื่อให้โครงสร้างอาคารมีความแข็งแรง แข็งแกร่ง เหนียวแน่น สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจากโครงสร้าง และน้ำหนักจรได้ตามแบบก่อสร้าง

อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ได้ปูนซิเมนต์ให้เพิ่มความแข็งแกร่ง  อุตสาหกรรมเหล็กได้พัฒนาการของเหล็กที่เพิ่มความเหนียว ในกรณีเหล็กเส้นก่อสร้าง มีการผลิตถึงชั้นมาตรฐาน SD 50  ที่มีความเหนียวแข็งแรงกว่า SD40  หมายความว่า  เมื่อต้องการความแข็งแรงมีศักยภาพรับน้ำหนักรวมเท่ากันแล้วการใช้เหล็กเส้นก่อสร้างเกรด SD50  ใช้ปริมาณเหล็กน้อยกว่า  SD40 และจากการใช้งานจริงสรุปได้ว่าลดปริมาณการใช้เหล็กลงประมาณ  15-20 %   อีกทั้งยังมีความสะดวกในการเทคอนกรีต  เพราะเมื่อใช้เหล็กชั้น SD50 ทำให้ปริมาณเหล็กลดลง การใช้เหล็ก SD50  ให้ได้ประโยชน์เต็มที่ต้องเริ่มจากความต้องการของเจ้าของโครงการที่กำหนดให้มีการออกแบบโดยใช้เหล็ก SD50  หรือสถาปนิกที่ออกแบบมีความรู้เกี่ยวกับ SD50  และเสนอต่อเจ้าของโครงการ  ซึ่งยังเกิดประโยชน์ให้สามารถออกแบบได้ยืดหยุ่นมากขึ้น  มีข้อจำกัดจากเรื่องคุณสมบัติการรับน้ำหนักรวมและขนาดของโครงสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง เช่น  เสาและคานลดลง

นอกจากนี้ในพื้นที่มีความเสียงภัยแผ่นดินไหว หรือการออกแบบสร้างอาคารให้มีความสามารถต้านแรงสั่นสะเทอืนแผ่นดินตามกฎหมายกำหนดหรือตามต้องการนั้นสามารถเลือกใช้เหล็กต้านแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว SD40 S  มาตอบสนองความต้องการได้ เช่น การก่อสร้างในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นต้น การบริหารกิจการรับเหมาก่อสร้าง  จำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  ตั้งแต่อุตสาหกรรมเหล็กอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกลหนักในงานก่อสร้าง  อุตสาหกรรมต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับงานระบบ และ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์  เป็นต้น

การติดตามความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  และนำมาใช้ประโยชน์ย่อมเกื้อหนุนให้กิจการรับเหมาก่อสร้างประสบความสำเร็จ  ลดปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับช่างก่อสร้าง ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ