สงครามการค้า สะเทือนเป็นลูกโซ่  กำลังขยายผลในทางลบกับอุตสาหกรรมเหล็ก หลังจากถูกอเมริกาใช้มาตรา 232 กฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกรวมถึงไทยด้วยในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ

นับเป็นการซํ้าเติมอุตสาหกรรมเหล็กของไทยเเละของโลกจากนโยบาย 2 ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ นายกรกฎ   ผดุงจิตต์  เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลที่ตามมาจากนโยบายของอเมริกาและยุทธวิธี การทำการค้าของจีนที่ทำให้ทั่วโลกต้องติดตามและเฝ้าระวังผลที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ รวมถึงความผิดเพี้ยนของโครงสร้างราคาเหล็กในตลาดโลกเวลานี้

เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กส.อ.ท.กล่าวว่า ผลจากที่อเมริกาเดินมาตรา 232 ต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก ทำให้อีกหลายประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กต้องออกมาประกาศใช้มาตรการปกป้อง เพื่อกันการทะลักของเหล็กที่ overflow ในตลาดโลก อย่างสหภาพยุโรป ตุรกี ประกาศไต่สวน Safeguard และประเทศต่างๆ ก็เร่งใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีน

44.8ล.ตันทุ่มไทย-อาเซียน

ประเมินว่าเฉพาะมาตรา 232 ของอเมริกาและ Safeguard ของอียูและตุรกีจะทำให้มีเหล็ก overflow ในตลาดโลกมากถึงจำนวน 77.8 ล้านตัน โดยเหล็กจำนวน 44.8 ล้านตัน จากประเทศอินเดีย จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม รัสเซีย ยูเครน เป็นความเสี่ยงที่ถูกทุ่มตลาดเข้ามาในประเทศไทยและประเทศในแถบอาเซียน

สำหรับประเทศไทยในช่วง 5 เดือนแรกเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เหล็กหลายรายการที่มีบทบาทในตลาดที่นำเข้าจาก 7 ประเทศมายังประเทศไทยอยู่ในระดับปริมาณการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 เดือนแรกปีที่แล้ว อย่างเหล็กลวด เฉพาะการนำเข้าจากเวียดนามสูงขึ้นมาแล้วถึง 1,216.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกัน ลวดเหล็กจากเวียดนามก็เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 98.2% เหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน นำเข้าจากจีนสูงถึง 72.3% และท่อเหล็กจากเวียดนาม นำเข้าสูงขึ้นถึง 60.3% เป็นต้น สถิติเหล่านี้คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงผลที่ตามมา ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
ปฏิบัติการสวมสิทธิ์

นายกรกฎ กล่าวอีกว่าไม่เพียงเท่านั้น โลกยังต้องเผชิญกับยุทธวิธีในการทำการค้าของจีนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดกลยุทธ์เดินสายทุ่มตลาดเหล็กไปทั่วโลก รัฐบาลจีนให้การอุดหนุนการส่งออกก่อนหน้านี้ เพื่อระบายเหล็กจำนวนมากออกนอกประเทศ ตีตลาดโลกในราคาถูกกว่าผู้ผลิตในประเทศนั้นๆ

เช่นเดียวกับการใช้ฐานการผลิตนอกบ้านปฏิบัติการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า หลังจากพบว่าตัวเลขส่งออกจากไทยไปอเมริกาและตัวเลขอเมริกานำเข้าจากไทยมีความแตกต่าง ไม่เท่ากัน แสดงว่าเกิดการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ที่จีนนิยมทำ เช่น บริษัท ก. สัญชาติจีน เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในไทยในปริมาณเล็กน้อย จากนั้นก็ไปขอใบ C/O (Country of Origin) ใบรับรองว่าสินค้านี้ผลิตในประเทศไทย หรือใบแสดงแหล่งกำเนิดสินค้า ขณะเดียวกันบริษัทก. ก็มีการนำเข้าเหล็กบางส่วนเข้ามาจากจีนด้วย จากนั้นก็ทำการส่งออกไปพร้อมกันภายใต้แหล่งกำเนิดสินค้าไทย เช่น มีการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กในไทย 2,000 ตันแต่เวลาส่งออกไป กลับมีการขอ C/O ส่งออกไปสูงถึง 20,000 ตัน
โครงสร้างราคาเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตามสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงที่ผ่านมา จีนจะเป็นผู้คุมตลาดเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้โครงสร้างราคาไม่เป็นปกติ อย่างเช่น ราคาถ่านหิน ซึ่งจีนเป็นผู้ซื้อและส่งออกถ่านหินรายใหญ่ ก็ทำให้ราคาถ่านหินสูงขึ้น เช่นเดียวกับแท่งกราไฟต์ อิเล็กโทรด ซึ่งใช้กับเตาหลอมเหล็กด้วยไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) สำหรับโรง งานผลิตเหล็กเส้น เหล็กแผ่น ทั้งหลายที่ใช้ตัวนี้เป็นวัตถุดิบในการหลอมเหล็ก ที่ก่อนหน้านั้นจีนดัมพ์ราคาลงมา จนโรงงานแท่ง กราไฟต์อิเล็กโทรดในโลกปิดกิจการ ในที่สุดจีนกลายเป็นฐานใหญ่ และมีอำนาจต่อรองสูงในการกำหนดราคา ทำให้ต้น ทุนผู้ประกอบการทั่วโลกที่ต้องใช้แท่ง กราไฟต์อิเล็กโทรด มาผลิตเตา EAF ในการหลอมเหล็กสูงขึ้นมาก

“เวลานี้ดูเหมือนว่าจีนกำลังจะทำในแบบเดียวกันนี้กับอุตสาหกรรมเหล็กทั้งหมด ทำโดยวิธีการขึ้นราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาขยับไปที่กว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่พอนำเหล็กแผ่นรีดร้อนไปผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่อง เช่น ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น แต่ขายได้ในราคา 680 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งความจริงราคาต้องขึ้นไปที่กว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตรงนี้จะเห็นว่าจีนได้กำไรไปแล้วกับการขายเหล็กแผ่นรีดร้อน แต่กลับส่งผลิตภัณฑ์เหล็กปลายนํ้าไปในตลาดโลกในราคาที่ตํ่ามากเพื่อตัดราคาผู้ผลิตในประเทศอื่น

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้ราคาเหล็กรีดร้อนสูงขึ้น ในขณะนี้มาจากที่จีนปั่นตลาดโดยวิธีปั่นตลาดจะมี 2 วิธี คือ ปั่นโดยกดราคาเหล็กปลายนํ้าให้ตํ่า เพื่อให้คนอื่นอยู่ไม่ได้ เเละดันราคาเหล็กต้นทางให้สูง โดยที่จีนขายวัตถุดิบ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนในราคาที่ได้กำไร แต่ไปขายสินค้าสำเร็จรูปราคาถูก จนทำให้ผู้ผลิตเหล็กปลายนํ้าทั่วโลกขาดทุน และจีนก็ขายปลายนํ้าได้มากขึ้น

เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กส.อ.ท.กล่าวอีกว่า โครงสร้างราคาเปลี่ยนไปจาก เดิมมาก เมื่อก่อนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์เหล็ก ชนิดต่างๆ ก็สูงขึ้นตามกันเป็นทอดๆ ต่างจากปัจจุบันที่จีนพยายามเข้ามาแทรกแซงโครงสร้างราคาเหล็กทุกชนิดในตลาดโลก เพราะจีนเคยทำสำเร็จมาแล้วกรณีถ่านหินกับแท่งกราไฟต์ อิเล็กโทรด พอทุกคนตายหมด โรงงานปิด จีนก็กลับมาขายสินค้าได้ในราคาที่สูง เพราะไม่มีคู่แข่ง นั่นคือเป้าหมายที่จีนต้องการ เข้ามาคุมราคาในตลาดโลก โดยที่ไม่มีคู่แข่ง
แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ