นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2561 ที่มีอัตราเติบโต 4.6% แต่ในปี 2562 จะเติบโต 3.9% และในปี 2563 อัตราการเติบโตจะเหลือเพียง 1.7% เท่านั้น โดยสวนทางกับการเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน อินเดีย อิหร่านจน Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้แสดงความกังวลว่าภาวะ Over Supply ของสินค้าเหล็กจะกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤติสูงอีกแล้ว เพราะกำลังการผลิตเหล็กทั่วโลกมีมากเกินความต้องการใช้เหล็กถึง440 ล้านตันต่อปี

สำหรับการแก้ไขปัญหาสินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากต่างประเทศนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กมั่นใจในการทำงานแบบ “ทำได้ไว ทำได้จริง” ของท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งได้รับทราบปัญหาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กไทยแล้ว โดยขอให้พิจารณา (1) เร่งรัดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการ ให้มีความรวดเร็วและทันการณ์มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าท่อเหล็กจากเวียดนาม และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนจากจีน ซึ่งเพียง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณนำเข้าสินค้าดังกล่าวรวมกันมากกว่าล้านตัน จนส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตท่อ และโรงงานผลิตเหล็กเคลือบสังกะสีในประเทศไทย ต้องลดการผลิตหรือทยอยปิดงานไปบ้างแล้ว (2) บังคับใช้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti Circumvention) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นี้ อย่างเข้มงวดจริงจัง เพื่อเอาผิดผู้หลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด แม้จะมีผู้นำเข้าบางรายที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด ร้องขอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปเพราะเกรงกลัวความผิด ในขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ซึ่งดำเนินธุรกิจโดยสุจริต ไม่ได้ตื่นตระหนกกับกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การใช้เพียงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ไม่สามารถแก้ปัญหาความเสียหายทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างระดับที่กว้างขวางต่ออุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย อันเนื่องมาจากกำลังการผลิตเหล็กของโลกที่มีมากเกินความต้องการ และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ จนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยมีการใช้กำลังการผลิตถดถอย เหลือเพียง 33% เท่านั้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญอีกแนวทาง คือ การสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่จะมีการใช้งบประมาณหลายล้านล้านบาทในระยะเวลาข้างหน้านี้

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก (1) สนับสนุนนโยบาย Thai First ที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประกาศและให้กระทรวงคมนาคมเร่งทำ workshop กับกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ศึกษาแนวทางนำร่องเพื่อส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศ (2) ขอให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะกรมบัญชีกลาง ภายใต้กระทรวงการคลังที่เป็นหน่วยงานดูแลกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ดังเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย มีการที่มีการกำหนดนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม หรือแม้แต่มาเลเซียที่มีการใช้โปรแกรมการจัดซื้อของรัฐเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Industrial Collaboration Program (ICP) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ

“กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เชื่อว่าหากภาครัฐดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างมีบูรณาการ นอกจากจะช่วยรักษาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอันเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศที่ได้มีการลงทุนไปหลายแสนล้านบาท และมีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมนับแสนรายได้แล้ว จะมีส่วนช่วยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างชัดเจน”

ขอบคุณ แหล่งที่มา : แนวหน้า