“สรรพากร” คุมเข้ม บริษัทเหล็กเลี่ยงภาษี

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กรายใหญ่ในกลุ่มผู้ผลิตต้นน้ำมาชี้แจงถึงแนวทางการเสียภาษีอย่างถูกต้องเนื่องจาก ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ อาจจะมีลักษณะการทำธุรกิจที่ไม่ได้ลงบัญชีถูกต้อง เช่น การออกใบเสร็จตรงไปยังผู้รับเหมาหรือผู้ค้าปลายทาง โดยไม่ผ่านผู้ค้ารายกลางรายอื่นๆทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กทั้งระบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เราจะเชิญผู้ผลิตเหล็กระดับต้นน้ำรายใหญ่มาหารือถึงการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถรู้ข้อมูลการค้าขายเหล็กระหว่างทางได้ เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำจะออกบิลขายเหล็กไปยังผู้รับเหมา หรือผู้ผลิตปลายทาง ทำให้กรมฯไม่รู้ข้อมูลการซื้อขายของธุรกิจรายกลางและรายเล็กอื่นๆ เพราะจะไม่ปรากฏรายการการซื้อขายเหล็ก บางรายอาจสร้างบิลปลอมขึ้นมา ก็จะไล่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเหล็กเป็นหนึ่งในธุรกิจกลุ่มเสี่ยงที่กรมฯ กำลังเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไม่กี่รายที่เป็นธุรกิจต้นน้ำ ส่วนรายกลางและรายย่อย มีจำนวนมาก แต่หากเราทราบถึงธุรกิจต้นน้ำว่า มีการขายสินค้าไปให้ธุรกิจรายกลางและรายย่อยรายใดบ้าง เราก็จะรู้ข้อมูลการซื้อขายทั้งหมด

อานิสงส์โครงการรัฐหนุนอุตฯเหล็ก

ที่ผ่านมา ธุรกิจเหล็กมีปัญหาเรื่องการทุ่มราคาจากต่างประเทศ ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างน้อย 5 ปี แต่ขณะนี้ปัญหาดังกล่าวหมดไป และนับจากนี้กลุ่มธุรกิจนี้จะมีอัตราการขยายตัวที่มากขึ้น เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้คาดว่ามูลค่าการค้าขายเหล็กน่าจะพุ่งหลักแสนล้านบาทต่อปี

“ที่ผ่านมา อาจจะมีส่วนที่ทำถูกกับที่ทำไม่ถูก เราก็จะมองโลกแง่บวกว่าเขาไม่เข้าใจ ซึ่งผู้ผลิตต้นน้ำนั้น แต่เกรงใจยี่ปั๊ว ซึ่งมีการแข่งตัดราคา ถ้าไปเรื่องมาก เช่น ออกบิลภาษี ก็จะทำให้ธุรกิจรายกลางขายของไม่ได้แต่ถ้าเข้มงวด และบอกแนวทางที่ถูกต้อง ทุกรายก็โดนเหมือนกัน ก็ไม่กระทบธุรกิจ ไม่เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ”

สำหรับธุรกิจกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จะเป็นธุรกิจค้าขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งกำลังปิดช่องทางโดยการออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษีผู้ที่ทำธุรกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด โดยนับรวมผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจค้าขายเงินสดต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของเกี่ยวกับธุรกิจทัวร์ และ ธุรกิจร้านขายยา เป็นต้น โดยกรณีธุรกิจร้านขายยา กรมฯมีนโยบายเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีอย่างถูกต้องผ่านการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินยอมที่จะเข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะจะทำให้มีการลงบัญชีอย่างถูกต้องและยังสามารถหักลดหย่อนรายจ่ายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้การโอนธุรกิจจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคล ยังติดปัญหาเรื่องของการโอนย้ายสิทธิ์ใบอนุญาตจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล ซึ่งเดิมกรมฯได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอผ่อนปรนเรื่องดังกล่าว แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ทำให้กรมฯต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็จะมีความล่าช้า ดังนั้น การดึงธุรกิจขายยาเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลก็จะยังมีความล่าช้าตามไปด้วย

ส่วนธุรกิจร้านอาหาร ขณะนี้กำลังเร่งให้เข้าธุรกิจเหล่านี้ เข้าจดทะเบียนเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกระตุ้นผ่านผู้ซื้อ โดยกรมฯกำลังคิดรูปแบบการออกแอพลิเคชั่นบนมือถือที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งรายชื่อร้านค้าหรือร้านอาหารที่ไม่ออกใบกำกับภาษีอย่างถูกต้องแก่ผู้ซื้อต่อกรมฯ ซึ่งกรมฯจะมีรางวัลให้เป็นการตอบแทน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า กรณีที่กรมสรรพากร จะเข้ามาเข้มงวดในเรื่องการเลี่ยงภาษีในกลุ่มสินค้าเหล็ก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กมีการค้าที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการที่ทำการค้าถูกต้องจะได้สู้กับผู้ที่ทุจริตเลี่ยงภาษีได้มากขึ้นบนพื้นฐานต้นทุนที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ จากการประเมิน ในกลุ่มโรงงานผู้ผลิตเหล็กส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจถูกต้อง เพราะต้องอยู่ในกฎกติกาตั้งแต่การซื้อ การนำเข้าวัตถุดิบเศษเหล็กหรือเหล็กแท่ง ที่จะต้องมีหลักฐานการซื้อที่ถูกต้อง ทำให้การขายเหล็กที่ผลิตได้ก็ต้องถูกต้องตามไปด้วย เพื่อจะได้มีหลักฐานไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากต้นทุนการซื้อเหล็ก รวมทั้งโรงงานผลิตเหล็กส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นส่วนใหญ่ก็เป็นการร่วมทุนกับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ ซึ่งยึดถือการทำธุรกิจที่โปร่งใสไม่ให้เสียชื่อเสียงของบริษัท  ดังนั้นในกลุ่มโรงงานผู้ผลิตเหล็กจึงมีการตรวจสอบได้ง่ายกว่า มีปัญหาการเลี่ยงภาษีน้อย

อย่างไรก็ตาม มองว่าการเลี่ยงภาษีสรรพากรส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ค้าเหล็ก ที่บางส่วนขายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ขายเหล็กให้กับผู้รับเหมาต่างๆ ที่มีช่องทางการเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มได้มาก เพื่อให้มีราคาต่ำจ่ายใต้โต๊ะให้กับผู้รับเหมาโครงการต่างๆได้ ซึ่งหากเข้มงวดก็จะทำให้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้า และเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานได้มากขึ้น

Cr:http://iiu.isit.or.th/th/news/Iron%20Industry%20News/Content-2542.aspx