“พาณิชย์” จับตาเหล็กจีนทะลักเข้าไทย เหตุรัฐบาลจีนเพิ่มอัตราการคืนภาษีส่งออกให้ผู้ส่งออกเหล็กในประเทศ หลังเหล็กจีนส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ เผยผู้ผลิตไทยได้รับผลกระทบ ร้องพาณิชย์ให้ใช้มาตรการสกัดได้ พร้อมจับตาเป็นการอุดหนุนส่งออกหรือไม่ ถ้าใช้ผิดดับบลิวทีโอแน่ เล็ง ขอหารือหาทางแก้ไข

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ผลิตเหล็กของไทยเป็นห่วงสินค้าเหล็กจากจีนอาจทะลักเข้าไทยจำนวนมากหลังจากที่รัฐบาลจีนเพิ่มอัตราการคืนภาษีส่งออกให้กับผู้ส่งออกเหล็กจีน และเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์หามาตรการแก้ปัญหาว่า กรม ได้ติดตามสถานการณ์เหล็กอย่างใกล้ชิด เพราะทราบดีว่า หลังจากที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ตามมาตรา 232 กฎหมายการค้า Trade Expansion Act 1962 ไปแล้ว อาจทำให้เหล็กจากจีนส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ และต้องส่งออกมาประเทศอื่นแทน และยิ่งมีการเพิ่มอัตราการคืนภาษีส่งออกให้อีก ก็ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น

“กรมได้จับตามาตั้งแต่สินค้าจีนถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเรื่อยมาจนถึงการใช้มาตรการคืนภาษี เพราะอาจจะมีเหล็กจากจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ทะลักเข้ามาในไทย หรืออาจจะมีการส่งเหล็กเข้ามาขายในราคาถูกกว่าขายในจีนแบบเป็นการทุ่มตลาด ซึ่งกรมพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ หากได้รับผลกระทบ โดยมีมาตรการที่จะใช้ได้ ทั้งการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด)”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยใช้มาตรการเอดีกับเหล็กจากจีนอยู่แล้วถึง 12 รายการ เพราะมีการทุ่มตลาดในไทยจริง และได้เรียกเก็บภาษีเอดีกับเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งต่อไปหากเหล็กจากจีนเข้ามาทุ่มตลาด และเป็นสินค้าในกลุ่ม 12 รายการเดิม ผู้ผลิตก็สามารถร้องเรียนให้พิจารณาทบทวนอัตราอากรเอดีได้ ซึ่งอาจจะเก็บเพิ่มขึ้นเพื่อให้เท่ากับที่มีการทุ่มตลาด หรือใช้มาตรการเซฟการ์ดเพื่อสกัดการนำเข้า แต่ถ้าเป็นเหล็กรายการใหม่ ก็สามารถยื่นเรื่องเข้ามายังกรมฯ เพื่อให้พิจารณาใช้มาตรการได้

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างการติดตามกรณีดังกล่าว และขอความร่วมมือสำนักพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ให้ตรวจสอบข้อมูล และรายงานกลับมาให้กรม ทราบด้วย คาดว่าจะทราบข้อมูลที่ชัดเจนในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเบื้องต้น การคืนภาษีส่งออก ไม่ถือว่าผิดกฎองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) หากคืนในอัตราเดียวกับอัตราที่จัดเก็บ แต่หากคืนเกินกว่าอัตราการจัดเก็บจะเป็นการอุดหนุนการส่งออก และทำให้ราคาเหล็กของจีนในตลาดโลกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้ผู้ส่งออกจากประเทศอื่นแข่งขันไม่ได้ และได้รับผลกระทบ ซึ่งถือว่าผิดกฎดับบลิวทีโอ และกรมคงต้องขอหารือกับจีน เพื่อให้แก้ไขการใช้มาตรการดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกัน หากจีนมีการส่งสินค้าเข้ามาในไทยจำนวนมาก จนผู้ผลิตเหล็กของไทยได้รับผลกระทบ ไทยก็สามารถใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขอื่นๆได้อีก

“ไทยเองมีมาตรการคืนภาษีส่งออกให้ผู้ส่งออกเช่นกัน อย่างการคืนภาษีตามมาตรา 19 ทวิ ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎดับบลิวทีโอ แต่กรณีของจีนขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนรัฐบาลจีนคืนภาษีส่งออกอย่างไร หากคืนให้เกินกว่าที่จัดเก็บจริง ประเทศที่ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องร้องดับบลิวทีโอได้ แต่สำหรับไทย คงจะขอหารือกับจีนก่อน คงไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง เพราะใช้เวลานาน แต่หากมีการส่งออกมาไทยจำนวนมากจนผู้ผลิตเหล็กไทยได้รับผลกระทบ ผู้ผลิตเหล็กไทยก็สามารถร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์เปิดการไต่สวนการตอบโต้”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า รัฐบาลจีนได้ปรับโครงสร้างการคืนภาษีส่งออกให้กับผู้ส่งออกในประเทศสำหรับสินค้า 397 รายการ โดยเป็นสินค้าเหล็กถึง 85 รายการ เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็นที่ความหนามากกว่า 3 มิลลิเมตร (มม.) ที่คืนภาษีส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 13%, เหล็กเคลือบสีที่มีความกว้างน้อยกว่า 600 มม. คืนภาษีจาก 0% เป็น 9% เป็นต้น และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.61 ถือเป็นแรงจูงใจให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดปัญหาเหล็กส่วนเกินในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเหล็กเหล่านี้อาจมีการส่งออกมาอาเซียนและไทย.

Cr.ไทยรัฐ