พาณิชย์ปลื้ม! สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มรายการสินค้าใหม่ให้ได้รับสิทธิ GSP

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR มีประกาศเรื่อง New Trade Preference Program Enforcement Effort เพิ่มสินค้าใหม่ 2 ประเภท ได้แก่ เครื่องใช้ในการเดินทาง (Travel Goods) และ เซลลูโลสไนเทรต (Cellulose nitrates) เป็นรายการสินค้า ภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)    ของสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าส่งออกทั้งสองรายการของไทย สามารถขอใช้สิทธิพิเศษฯ เพื่อขอยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป
นางอภิรดี ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560  นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในประกาศ (Proclamation) ผลการพิจารณาทบทวนโครงการสิทธิพิเศษฯ ประจำปี 2559 ซึ่งในประกาศดังกล่าว สหรัฐฯ ได้เพิ่มเติมรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ แก่ประเทศสมาชิกทั่วไปรวมถึงประเทศไทย สำหรับสินค้า 2 ประเภท คือ สินค้าเครื่องใช้ในการเดินทาง พิกัดศุลกากรย่อยประมาณ 23 รายการ ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเอกสาร และกระเป๋าถือ เป็นต้น และสินค้า เซลลูโลสไนเทรต พิกัดศุลกากร 3912.20.00 จำนวน 1 รายการ โดยเหตุผลสำคัญของการเพิ่มเติมรายการสินค้าในโครงการสิทธิพิเศษฯ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มแหล่งในการนำเข้าสินค้าที่หลากหลายจากกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ อาทิ ประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ในการเดินทาง และอีกประการหนึ่ง คือ สหรัฐฯ ต้องการปรับสมดุลทางการค้า กับกลุ่มประเทศอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษฯ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบรายละเอียดของการเพิ่มเติมรายการสินค้าดังกล่าว และพิกัดศุลกากรที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ ได้ที่ http://ustr.gov/about-us/policy-offices/press-office/press-releases/2017/june/ustr-announces-new-trade-preference
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามผลักดันผ่านช่องทางการประชุมภายใต้ความร่วมมือต่างๆ ซึ่งเมื่อครั้งการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย–สหรัฐ ระดับรัฐมนตรี (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้หยิบยกประเด็นขอให้สหรัฐฯ พิจารณาให้สิทธิพิเศษฯ เพิ่มเติมสำหรับสินค้าเครื่องใช้ในการเดินทาง ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต และสามารถขยายการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ อีกทั้งยังได้มีโอกาสหารือกับสภาหอการค้าสหรัฐฯ และกลุ่มนักธุรกิจผู้นำเข้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการผลิต เครื่องใช้ในการเดินทางแบรนด์ดังของสหรัฐฯ เช่น Coach และ Tumi ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้ไทยขอรับสิทธิพิเศษฯ เพิ่มเติม ดังนั้น จากการที่สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษฯ สินค้าเครื่องใช้ในการเดินทางจะเป็นปัจจัยดึงดูดและโอกาสสำคัญในการเพิ่ม   ลู่ทางขยายการลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทย รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับสินค้าไทย ที่จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ารายการนี้ของไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ สินค้าเครื่องใช้ในการเดินทาง ที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิพิเศษฯ ปัจจุบันมีอัตราอากรนำเข้าถึง ร้อยละ 4.5 – 20 หากขอใช้สิทธิพิเศษฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า และในปี 2559 สหรัฐฯ มีการนำเข้าจากทั่วโลกประมาณ 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยเพียง 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 0.67 (จีนมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 65 และเวียดนามมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 30) ในขณะที่สินค้าเซลลูโลสไนเทรต ปี 2559 สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าจากไทย ประมาณ 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่านำเข้ารวมจากทั่วโลกประมาณ 380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Cr : ประชาชาติธุรกิจ เศรษฐกิจในประเทศ