บันได เป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เพราะนอกจากบันไดจะใช้เป็นทางสัญจรทางตั้งที่เชื่อมต่อระหว่างชั้นต่างๆ ของบ้านเข้าด้วยกันแล้ว บันไดยังเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่สามารถแสดงออกด้านความงาม และความประทับใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มาเยี่ยมเยือน การออกแบบ หรือสร้างบันไดสักตัว โครงสร้างของบันไดเป็นสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง จากนั้นจึงค่อยเลือกรูปทรงของบันไดให้เข้ากับพื้นที่ที่มีอยู่ เช่น บันไดทางตรง บันไดหักฉาก บันไดหักกลับ หรือบันไดเวียน เป็นต้น จากนั้นจึงเลือกวัสดุปิดผิวต่างๆ ให้บันไดมีความสวยงาม

       โครงสร้างของบันได โดยทั่วไปนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก โดยที่บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็กจะมีลักษณะการก่อสร้างที่ใกล้เคียงกันจึงขออธิบายรวมอยู่ในหัวข้อเดียวกัน

1. บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
       บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (คลิกเพื่ออ่านบทความ “ศัพท์คนสร้างบ้าน: คอนกรีตเสริมเหล็ก”)  มักเป็นบันไดทึบคือไม่สามารถมองลอดลูกตั้ง (คลิกเพื่ออ่านบทความ “ศัพท์คนสร้างบ้าน: ลูกตั้งลูกนอน”) ไปได้ การก่อสร้างจะต้องมีการทำไม้แบบ และผูกเหล็กเสริม ก่อนที่จะเทคอนกรีต การก่อสร้างจึงใช้เวลามาก บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแบ่งเป็น 4 รูปแบบหลักๆ คือ

       1.1 บันไดท้องเรียบ – เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีท้องบันไดเรียบ เป็นบันไดแบบพื้นฐานที่สร้างง่ายที่สุด ช่างทั่วไปมีความชำนาญในการสร้าง

ภาพ: บันไดท้องเรียบ

       1.2 บันไดพับผ้า – เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีท้องบันไดเป็นหยักไปตามขั้นบันได เป็นบันไดที่มีความสวยงามมากกว่าบันไดท้องเรียบ แต่ต้องแลกมาด้วยการก่อสร้างที่ยากขึ้น เนื่องจากจะช่างจะต้องตีไม้แบบเป็นหยักที่ท้องบันได 

ภาพ: บันไดพับผ้า

       1.3 บันไดพับผ้าแบบมีแม่บันได – ลักษณะเหมือนบันไดพับผ้า แต่จะมีแม่บันไดทำหน้าที่เป็นคานช่วยรับน้ำหนัก ซึ่งอาจจะอยู่กลาง หรือริมบันไดก็ได้ บันไดพับผ้าแบบมีแม่บันไดนี้ (คลิกเพื่ออ่านบทความ “ศัพท์คนสร้างบ้าน: แม่บันได”) สามารถลดความหนาของลูกตั้งและลูกนอน (คลิกเพื่ออ่านบทความ “ศัพท์คนสร้างบ้าน: ลูกตั้งลูกนอน”) บันไดให้บางมากขึ้นได้ เนื่องจากมีแม่บันไดรับน้ำหนักแล้ว

ภาพ: บันไดพับผ้าแบบมีแม่บันได

       1.4 บันไดลอย – เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ยื่นเฉพาะลูกนอนบันไดออกมาจากผนัง เหมือนขั้นบันไดแต่ละขั้นลอยได้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะมีแม่บันไดคอนกรีตเสริมเหล็กซ่อนอยู่ในผนัง

ภาพ: บันไดลอย

2. บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก
       บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก เป็นโครงสร้างบันไดที่เกิดจากการประกอบกันของชิ้นส่วนรับแรงต่างๆ ที่ทำจากไม้หรือเหล็ก โดยโครงสร้างของบันไดประกอบไปด้วย

       1. แม่บันได (คลิกเพื่ออ่านบทความ “ศัพท์คนสร้างบ้าน: แม่บันได”) เป็นโครงสร้างหลัก ทำหน้าที่เหมือนคานรับน้ำหนัก
       2. ลูกนอนบันได เป็นส่วนของพื้นที่ไว้เหยียบ
       3. ลูกตั้งบันได เป็นส่วนที่ปิดระหว่างลูกนอนบันไดแต่ละขั้น
       4. พุกบันได ทำหน้าที่ยึดลูกนอนบันไดเข้ากับแม่บันได

ภาพ: ส่วนประกอบบันไดโครงสร้างไม้และโครงสร้างเหล็ก

       บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก จะต้องประกอบไปด้วยส่วนประกอบอย่างน้อย 2 ส่วน คือ แม่บันได และลูกนอนบันได สำหรับในส่วนของลูกตั้งบันได จะมีหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งหากไม่มีลูกตั้งก็จะเป็นบันไดแบบโปร่ง

       บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก (คลิกเพื่ออ่านบทความ “ศัพท์คนสร้างบ้าน: โครงสร้างเหล็ก”) สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ตามลักษณะแม่บันได

       2.1 แม่บันไดขนาบข้างขั้นบันได – เป็นบันไดที่มีแม่บันไดอยู่ขนาบข้างขั้นบันไดทั้งสองฝั่ง โดยที่ลูกนอนบันไดยึดติดโดยตรงกับแม่บันได หากเป็นบันไดไม้จะใช้สลักหรือตะปูยึด ส่วนบันไดเหล็กจะใช้การเชื่อมหรือยึดด้วยสกรู

ภาพ: แม่บันไดขนาบข้างบันได
ภาพ: แม่บันไดขนาบข้างบันได (บันไดแบบทึบ)

       2.2 แม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได – เป็นบันไดที่มีแม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได โดยที่บันไดจะมีพุกบันไดทำหน้าที่ยึดลูกนอนที่วางขนานกับพื้น ให้เข้ากับแม่บันไดที่วางเอียง แม่บันไดที่วางใต้ขั้นบันไดนี้มีได้ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป อาจวางตรงกึ่งกลางบันได หรือวางสองข้างของบันไดก็ได้ 

ภาพ: แม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได (บันไดแบบโปร่ง แม่บันไดกลาง)
ภาพ: แม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได (บันไดแบบโปร่ง แม่บันไดริม)
ภาพ: แม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได (บันไดแบบทึบ แม่บันไดริม)

       จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของบันไดมีหลากหลายรูปแบบ สามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบ และงบประมาณที่มีอยู่ โดยโครงสร้างของบันไดในแต่ละรูปแบบนั้นก็มีการออกแบบรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสถาปนิก และวิศวกร เพื่อที่จะได้บันไดที่มีทั้งความแข็งแรง และความสวยงามไปในตัว

ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.scgbuildingmaterials.com/