“ทางรถไฟ” และ “เหล็ก”

กลับมาเป็นประเด็นที่สังคมสนใจอีกครั้งสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งตามมาตรา 44 กดปุ่มปลดล็อกลดอุปสรรคและปัญหาของโครงการ ช่วยเร่งรัดการดำเนินงานต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่รัฐบาลวาดฝันไว้

วันนี้สถาบันเหล็กฯ จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับ “ทางรถไฟ” และ เหล็กมาแชร์ให้ทุกท่านได้รับทราบ

ทางรถไฟถือเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร โดยมีรถไฟเป็นยานพาหนะ รางรถไฟนั้นประกอบด้วยรางสองราง ซึ่งปกติทำมาจาก “เหล็กกล้า” วางบนวัตถุที่ตั้งฉากกับตัวราง โดยสร้างจากไม้หรือคอนกรีต วัตถุนี้เป็นตัวกำหนดระยะระหว่างของรางเรียกว่า “เกจ” (Gauge)

รางรถไฟเหล็กเริ่มปรากฏในศตวรรษที่ 18 ในปี ค.ศ. 1802 วิศวกรชาวอังกฤษนามว่า วิลเลียม เจสสป (William Jessop) ได้ออกแบบและนำรางเหล็กมาใช้ โดยเปิดให้บริการ ทางรถไฟเซอร์เรย์ไอเอิร์น (Surrey Iron Railway) ในทางใต้ของกรุงลอนดอน ในขณะนั้นยังใช้เพียงรถม้าลาก

ทางรถไฟแรกที่นำหัวรถจักรไอน้ำมาใช้คือรถไฟสาย สตอกตัน-ดาร์ลิงตัน (Stockton and Darlington) ในภาคเหนือของประเทศอังกฤษ โดยเปิดให้บริการเมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2368 (ต้นรัชกาลที่ 3) ต่อจากนั้นก็มีทางรถไฟอีกหลายสายเติบโตขึ้นตามมา เช่นสายลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ต่อจากนั้นทางรถไฟจึงแพร่หลายทั่วเกาะอังกฤษและต่อมาทั่วโลก

การพัฒนาทางเทคโนโลยีรถไฟก้าวกระโดดไปอีกขั้นเมื่อ แกรนวิลล์ ที. วูดส์ (Granville T. Woods) นำสายไฟฟ้ามาจ่ายกระแสให้รถไฟ ซึ่งนำไปสู่รางรถไฟแบบไฟฟ้า และในสมัยนี้มีหลายประเทศที่ได้นำเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงมาใช้


ปัจจุบันทางรถไฟทั่วโลกมีความยาวรวมกันทั้งสิ้น 1,055,263 กิโลเมตร ซึ่งสร้างจาก “เหล็กกล้า” มากกว่า 118,252,771 ตัน หรือ เทียบเท่ากับหอไอเฟล 16,000 แท่ง

เอเชียถือเป็นทวีปที่มีทางรถไฟอันดับที่สามของโลก รองจากทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป

ทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกคือเส้นทางรถไฟเชื่อมจากประเทศจีน, คาซัคสถาน, รัสเซีย, เบลารุส, โปแลนด์, เยอรมนีและฝรั่งเศส ก่อนที่จะถึงปลายทางเมืองมาดริด ประเทศสเปน มีระยะทางรวมมากกว่า 13,052 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 21 วัน

อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในโลกอยู่ที่เทือกเขาแอลป์ (Alps) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีระยะทางยาว 57.1 กิโลเมตร

Cr : World Steel Association