เหล็กเสริมคอนกรีต

เหล็กเสริม (reinforcement) คือ เหล็กที่ใช้สำหรับเสริมคอนกรีตซึ่งปกติจะเป็นเหล็กกล้าชนิดท่อน ชนิดเส้น หรือชนิดตะแกรง ฝังในลักษณะที่ทำให้เหล็กและคอนกรีตร่วมก้นต้านทานต่อแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคอนกรีตได้

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า คอนกรีตมีคุณสมบัติในการับแรงอัดได้สูง แต่จะเปราะบางและอ่อนแอต่อการรับแรงดึง ดังนั้นในการนำเอาเหล็กซึ่งมีคุณสมบัติในการรับแรงอัดแระแรงดึงสูง ทั้งยังมี สัมประสิทธิ์ในการยึดหดตัวเท่าๆ กับคอนกรีตมาใช้ร่วมกัน จึงเหมาะต่อการนำเอามาออกแบบเพราะจะทำให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรง ทั้งนี้เนื่องจากการที่วัสดุทั้งสองช่วยกันรับและถ่ายแรงร่วมกัน

กล่าวคือ เหล็กจะทำหน้าที่ในการรับแรงดึง (โดยทั่วไปให้พิจารณาเฉพาะความสามารถในการรับแรงดึง) ขณะที่คอนกรีตจะทำหน้าที่ในการรับแรงอัด ก็จะทำให้คอนกรีตที่ใช้เหล็กเสริม หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก (reinforced concrete) สามารถรับแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี หรือมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง การเสริมเหล็กในจุดที่เกิดแรงเฉือน อาทิเช่น เหล็กคอม้า (bent up bar) หรือเหล็กปลอก (stirrup) ก็สามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างได้ นอกจากนั้นการใช้เหล็กเสริม ยังสามารถช่วยลดขนาดของเสาหรือคานลงได้ โดยไม่ทำให้ความแข็งแรงลดลงแต่อย่างใด ถ้าขนาดที่ใช้เหมาะสม เหล็กเสริมที่ถูกดัดงอในลักษณะต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้

สำหรับงานคอนกรีตที่ต้องการเหล็กเสริม ในการกำหนด ชนิด ปริมาณ และตำแหน่งของเหล็กเสริมจะขึ้นอยู่กับการออกแบบของวิศวกร ผู้ทำการก่อสร้างจะต้องทำตามข้อกำหนด และรูปแบบที่วิศวกรกำหนดมาให้ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามโดยมิได้รับความเห็นชอบจากวิศวกรผู้ออกแบบ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินขึ้นได้

เหล็กเสริม

เหล็กเสริมที่นิยมนำมาใช้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็ก จะเป็นเหล็กกล้าผสม (mild steel) จำแนกออกได้เป็น 5 ชนิดได้แก่

เหล็กเส้นกลม (Round Bar)

เหล็กเส้นกลม คือ เหล็กเส้นที่มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นรูปกลม มีผิวเรียบเกลี้ยง เหล็กเส้นกลมตามมาตรฐาน มอก. 20-2527 ทำจากเหล็กแท่งเล็ก (billet) เหล็กเส้นใหญ่ (bloom) หรือ เหล็กแท่งหล่อ (ingot) โดยตรง ด้วยกรรมวิธีรีดร้อนโดยไม่เคยมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นมาก่อน มีขนาด 6, 9, 12, 15, 19, 22, 25, 28 และ 34 มิลลิเมตร ความยาว 10 หรือ 12 เมตร มีชั้นคุณภาพเดียว ใช้สัญลักษณ์ SR 24 ชื่อขนาดใช้สัญลักษณ์ RB แล้วตามด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้นๆ

เหล็กทุกเส้นจะต้องมีชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตและชื่อขนาดหล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวเหล็ก ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตจะต้องห่างจากชื่อ ขนาดไม่น้อยกว่า 50 มิลลิเมตร ตัวอย่างเช่น เหล็กเส้นกลมขนาด 12 มิลลิเมตร ของบริษัทเหล็กสยาม จำกัด ดังนั้น เหล็กเส้นกลมขนาดนี้ทุกเส้นจะมีตัวอักษรว่า บลส. ตราช้าง และ RB 12 หล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวของเหล็กเส้นทุกเส้น เหล็กเส้นชนิดนี้นิยมใช้กันมากที่สุดกับงานก่อสร้างขนาดเล็กและขนาดกลาง

เหล็กรีดซ้ำ (Re-rolled Round Bar)

เหล็กเส้นกลมอีกชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้กับงานก่อสร้างขนาดเล็ก และขนาดกลางด้วยเช่นกัน ก็คือ เหล็กรีดซ้ำ เหล็กเส้นกลมชนิดนี้ ตามมาตรฐาน มอก. 211-2527 ทำจากเศษเหล็กที่ได้จากเข็มพืด (sheet pile) เหล็กแผ่นต่อเรือ (ship plate) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ หรือเหล็กที่คัดออกระหว่างการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วนำมารีดเป็นเส้นกลมด้วยกรรมวิธีรีดร้อน มีขนาด 6, 8, 9, 10, 12 และ 15 มิลลิเมตร ความยาว 10 หรือ 12 เมตร มีชั้นคุณภาพเดียว ใช้สัญลักษณ์ SRR 24 ชื่อขนาดใช้สัญลักษณ์ R แล้วตามด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้นๆ เหล็กทุกเส้นจะมีชื่อ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตและชื่อขนาด หล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวเหล็กเช่นเดียวกับเหล็กเส้นกลมด้วยเช่นกัน

เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar)

เหล็กข้ออ้อย คือ เหล็กเส้นที่มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นรูปกลม มีบั้ง (transverse ribs) และอาจมีครีบ (longitudinal ribs) ที่ผิว เพื่อเสริมกำลังยึดระหว่างเหล็กเส้นกับเนื้อคอนกรีต เหล็กข้ออ้อยตามมาตรฐาน มอก. 24-2527 ทำจากเหล็กชนิดเดียวกัน และด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับเหล็กเส้นกลม มีขนาด 10, 12, 16, 20, 22, 25, 28 และ 32 มิลลิเมตร ความยาว 10 หรือ 12 เมตร มี 3 ชั้นคุณภาพ ใช้สัญลักษณ์ SD 30, SD 40 และ SD 50 ชื่อขนาดใช้สัญลักษณ์ DB แล้วตามด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้นๆ เหล็กทุกเส้นจะมีชื่อเรียกหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตและชื่อขนาด หล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวเหล็กเช่นเดียวกับเหล็กเส้นกลม และเหล็กรีดซ้ำ เหล็กเส้นชนิดนี้เนื่องจากให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเหล็กกับเนื้อคอนกรีตได้ดีกว่า 2 แบบแรก จึงนิยมนำไปใช้กับงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ

Cr: http://www.thecontender-movie.com